1/09/2558

วิหารเทพวิทยาคม วิหารธรรมเซรามิกใหญ่ที่สุดในเอเชีย วัดน่าเที่ยวเมืองโคราช

วิหารเทพวิทยาคม วิหารธรรมเซรามิกสวยที่สุดใหญ่ที่สุดในเอเชีย

โครงการพัฒนาวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ แห่งวัดบ้านไร่ หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “อุทยานวัดบ้านไร่” ได้ดำเนินการก่อสร้างมาถึงส่วนที่ ๓ อันเป็นการก่อสร้างวิหารเทพวิทยาคม หรือวิหารปริสุทปัญญา เป็นวิหารธรรมแห่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่บอกเล่าเนื้อหาของหลักธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก ส่วนชื่อวิหาร ได้มาจากราชทินนามสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นเทพ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานถวาย

วิหารเทพวิทยาคม วิหารธรรมเซรามิกใหญ่ที่สุดในเอเชีย วัดน่าเที่ยวเมืองโคราช

วิหารเทพวิทยาคมเป็นสิ่งปลูกสร้างสูง ๔ ชั้น กลางบึงน้ำขนาดประมาณ ๓๐ ไร่ ของวัดบ้านไร่ ปริมณฑลพระวิหารมีความกว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร เป็นอาคารลักษณะทรงกลม สิ่งก่อสร้างที่ศูนย์กลางมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง ๓๐ เมตร โดยประมาณ ความสูงทั้งหมดประมาณ ๔๐ เมตร
ชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นชั้นสี่ เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะหลวงพ่อคูณยืนถือตะบอง สูงประมาณ ๕ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสูง ๑.๖ เมตร สร้างถวายโดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ใกล้เคียงบริเวณเดียวกันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปยืน ปางลีลา ขนาดความสูง ๗ เมตร รวมฐาน


วัตถุประสงค์ที่สร้างเพื่อให้วัดบ้านไร่ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของ จ.นครราชสีมา มีความตั้งใจกำหนดแล้วเสร็จ พ.ศ.๒๕๕๖ ในโอกาสหลวงพ่อคูณฯ อายุ ๙๐ ปี การก่อสร้างคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ ๒๔๐ ล้านบาท คณะกรรมการวัดบ้านไร่จึงได้มีดำริสร้างพระกริ่งเทพวิทยาคมและพระชัยวัฒน์เทพวิทยาคมขึ้น เพื่อเป็นการหาทุนการก่อสร้างในเบื้องต้น

การก่อสร้างวิหารเทพวิทยาคม ซึ่งหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ทำพิธีลงเสาเอก เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๕ ทางเข้าด้านหน้าทิศตะวันออกเป็นซุ้มประตูพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ สถิตอยู่ใต้เศียรช้างเอราวัณขนาดใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมือง
การถ่ายทอดหลักธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎกจะผ่านชิ้นงานศิลปะจิตรกรรมฝาผนัง และประติมากรรมปูนปั้นเซรามิกโมเสก ที่บรรจงสร้างสรรค์อย่างวิจิตรงดงามตระการตา อันเกิดจากความศรัทธา และความอุตสาหะของคนไทย เพื่อให้วิหารเทพวิทยาคมแห่งนี้ เป็นสถานที่ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของประเทศไทย ที่คนทั่วโลกทุกชาติทุกศาสนา ได้สัมผัสพระธรรมคำสั่งสอนในเชิงปริศนาธรรม นำเสนอเรื่องราวในพระไตรปิฎกผ่านภาพศิลปะที่เห็นและจดจำโดยมิต้องท่องจำ
ส่วนรายละเอียด พญานาค ๑๙ เศียร ๒ ตน มีความหมาย ดังนี้ พญานาค ศิลปกรรมคู่ซ้าย-ขวา ทอดลำตัวไปตามสองข้างสะพานซึ่งเป็นทางเชื่อม ระหว่างฝั่งริมตลิ่งเปรียบเสมือนโลกมนุษย์ และตัววิหารเทพวิทยาคม (ปริสุทธปัญญา) เปรียบเสมือนโลกธรรมะ พญานาคสองตนนี้ กำหนดให้ตนขวาเป็นธาตุเย็น และตนซ้ายเป็นธาตุร้อน แต่ละตนมี ๑๙ เศียร รวมเป็น ๓๘ เศียร มีความหมายอันเป็นมงคลชีวิต ๓๘ ประการ สถิต ณ จุดทางเข้าสู่มณฑลเพื่อใหผู้ที่มา ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ
ลำตัวของพญานาคแต่ละตนโอบล้อมและอุ้มวิหารกลางน้ำไว้โดยรอบและส่วนหางได้บรรจบพันกันเพื่อให้มีกำลังในการอุ้มวิหารไว้ส่วนกึ่งกลางปลายหางพญานาคที่พันกันเป็นดวงแก้วดวงใหญ่ เปล่งรัศมีเรืองรองตลอดเวลา พญานาคแต่ละตนตั้งแต่หัวพญานาคจรดหางของพญานาค ติดด้วยเซรามิกประมาณตนละ ๑๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ชิ้น
เศียรแต่ละเศียรมีขนาดความสูง ๑๑ เมตร กว้าง ๘ เมตร ความยาวโดยรวม จากเศียรถึงหางแต่ละตัว ๑๓๐ เมตร ตั้งแต่ก้าวแรกของผู้ที่ผ่านเข้ามาระหว่างเศียรพญานาค เปรียบเสมือนได้รับสิริมงคลชีวิตทั้ง ๓๘ ประการ เป็นการเริ่มต้นก้าวย่างสู่ความสุขความเจริญ และความก้าวหน้าและเป็นสิริมงคลในชีวิตตั้งแต่บัดนี้ไป
ซุ้มหางพญานาค มีแก้วสารพัดนึก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕๐ เมตร ติดตั้งอยู่ระหว่างเกลียวหางของพญานาค ซึ่งพันกันหุ้มรอบดวงแก้วซึ่งมีรัศมีสว่างเรืองรองตลอดเวลา หางพญานาคที่พันกันยกขึ้นเป็นซุ้มให้ลอดผ่านเพื่อพบแสงสว่างแห่งดวงจิตนำทางสูงสิ่งที่ดีงามทำบุญกับซุ้มหางพญานาคนี้ เพื่อรับประกายแห่งสติปัญญาที่จะทำให้พบแต่ความสมปรารถนาในทุกประการ


นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แห่งความวิจิตรตระการตาอีกแห่ง คือ ต้นโพธิ์อธิษฐาน เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายแห่งพุทธะ ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ต้นโพธิ์ต้นนี้จะตั้งอยู่บริเวณโถงชั้นหนึ่ง เพื่อให้ผู้คนได้อธิษฐานขอพร เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และโซนเพชรเจ็ดสีมณีเจ็ดแสงอยู่ภายในตัววิหาร จัดแสดง "เจ็ดสิ่งนำโชคในโลกใต้บาดาล" ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่สาธุชนที่มาเยี่ยมชมได้ขอพร พร้อมไขปริศนาธรรมนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันทั้ง ๗ สิ่ง ได้แก่
๑.มังกรและลูกแก้ว สัญลักษณ์แห่งการปกป้องและคุ้มครอง ๒.พญานาคตัวแทนความยิ่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์, ๓.ปลาอานนท์ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ค้ำชูความสงบสุขของโลกมนุษย์ ๔.จระเข้ ตัวแทนความเสียสละ ๕.พญาเต่า ทำให้มีโชคลาภ เงินทองไหลมาเทมาค้าขายร่ำรวย ๖.ปลาม้าน้ำ สัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ และ ๗.ปะการัง หมายถึงคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง สิ่งมงคลสิ่งสุดท้ายนี้จะช่วยกระตุ้นจิตใจให้รู้สึกผ่อนคลาย

ซุ้มประตูมหาบารมีทั้ง ๔ ทิศ
ความวิจิตรที่ประชาชนจะพบเมื่อลอดผ่านแก้วสารพัดนึก คือ ซุ้มประตูมหาบารมีทั้ง ๔ ทิศ ได้แก่ ซุ้มอภิมหาบารมีพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซุ้มอภิมหาบารมีพระพิรุณ ซุ้มอภิมหาบารมีพระกุเวร (ท้าวเวสสุวรรณ) และสุดท้ายซุ้มอภิมหาบารมีพระยมและรูปปั้น "สุนัข ๓ หัว" อันมีความหมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งแฝงไปด้วยความหมายแห่งการปล่อยวาง

นอกจากนี้แล้วภายในวิหารยังสวยงามไม่แพ้กันผู้ศรัทธาที่เดินชมภายในจะพบเรื่องราวพุทธประวัติตั้งแต่สมัยกำเนิดพระพุทธเจ้าต่อจากพระชาติสุดท้ายจนถึงพระองค์ดับขันธปรินิพพาน ถ่ายทอดผ่านจิตรกรรมฝาผนัง ๖ ภาพ จากศิลปิน ๖ คน ที่เกิดขึ้นจากความประณีตบรรจงสุดฝีมือของผู้ถ่ายทอด โดยใช้ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนเสาที่รองรับหลังคาเอราวัณ ผู้ออกแบบได้บรรจุภพชาติที่พระพุทธเจ้าถือกำเนิดทั้ง ๕๒๓ ชาติ ไว้รอบๆ ตัวเสาที่โอบล้อมตัววิหารอย่างสวยงาม ต่อด้วยจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง "ทศชาติชาดก" ที่เป็นจิตรกรรมเขียนสีแผ่นเซรามิก แล้วนำไปเผาไฟแรงสูง ซึ่งในแต่ละภาพจะเล่าเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ถ่ายทอดจากศิลปินผู้มีชื่อเสียง อาทิ ปรมัตถ์ เหลืองอ่อน, สัมพันธ์ สารารักษ์, จินตนา เปี่ยมศิริ ถือเป็นภาพจิตรกรรมผนังที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมี ต้นโพธิ์อธิษฐานและโซนเพชรเจ็ดสีมณีเจ็ดแสง บันดาลแสงสว่าง บันดาลทรัพย์ศฤงคาร
ข้อมูลจาก คมชัดลึก ภาพจากผู้จัดการออนไลน์

วิหารเทพวิทยาคม วิหารธรรมเซรามิกใหญ่ที่สุดในเอเชีย วัดน่าเที่ยวเมืองโคราช

ไม่มีความคิดเห็น: