11/20/2553

ดอยฟ้าห่มปก ผ้าห่มปก (Doi Phahom Pok) จ.เชียงใหม่ สูงเสียดฟ้าเที่ยวหน้าหนาว

ดอยฟ้าห่มปก ผ้าห่มปก (Doi Phahom Pok) จ.เชียงใหม่ | สูงเสียดฟ้า เที่ยวหน้าหนาว
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว มีระดับความสูงตั้งแต่ 400-2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีภูเขาที่สำคัญคือ ดอยปู่หมื่น ดอยแหลม และดอยฟ้าห่มปก ซึ่งมีความสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยที่สำคัญหลายสาย เช่น ห้วยแม่ใจ ห้วยแม่สาว น้ำแม่กึมหลวง น้ำแม่ฮ่าง น้ำแม่แหลง ทิศเหนือและทิศตะวันตกมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเมียนม่าร์ ทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันออกติดต่อกับพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอฝาง คือ ตำบลเวียง ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลม่อนปิ่น ตำบลแม่สูน ตำบลแม่งอน พื้นที่ 4 ตำบลของอำเภอแม่อาย คือ ตำบลมะลิกา ตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว ตำบลท่าตอน และพื้นที่ 2 ตำบลของอำเภอไชยปราการ คือ ตำบลหนองบัว และตำบลปงตำ

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 25.4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายนประมาณ 39.1 องศาเซลเซียส และฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 1,183.5 มิลลิเมตร มีอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย 14-19 องศาเซลเซียส ยอดดอยมีอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงฤดูหนาวเฉลี่ยประมาณ 2 องศาเซลเซียส สำหรับในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 24 องศาเซลเซียส

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
สภาพป่าและพืชพรรณ พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีความสูงเฉลี่ยตั้งแต่ 400 – 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประกอบกับมีอาณาเขตด้านทิศตะวันตกติดกับประเทศเมียนม่าร์ จึงเป็นผลให้มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติสูง โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ที่มีความหลากหลายของประเภทป่า ซึ่งสามารถจำแนกประเภทป่า โดยอาศัยปัจจัยทางสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ลักษณะดิน และพืชพรรณเด่น ได้ 5 ประเภท ดังนี้
1. ป่าเต็งรัง (Dry dipterocarp forest) สามารถพบป่าประเภทนี้ได้ตั้งแต่ระดับความสูง 400–600 เมตร พรรณไม้เด่นที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง ติ้ว ส่วนพืชชั้นล่างที่พบ ได้แก่ ปรงป่า และเป้ง
2. ป่าเบญจพรรณ (Mixed deciduous forest) เป็นประเภทป่าที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วไปในพื้นที่อุทยานฯ ตั้งแต่ระดับความสูง 400 – 800 เมตร พรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สัก ชิงชัน ประดู่ มะค่าโมง แดง ตะแบก เป็นต้น ในบางพื้นที่จะพบไผ่ขึ้นปะปนอยู่เป็นบริเวณกว้าง พืชชั้นล่างที่พบ ได้แก่ พืชวงศ์ขิงข่า คล้า และเฟินชนิดต่างๆ
3. ป่าดิบแล้ง (Dry evergreen forest) ป่าประเภทนี้พบกระจายเพียงเล็กน้อยในพื้นที่อุทยานฯ มักพบขึ้นปะปนกับป่าเต็งรัง พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้วงศ์ยาง และปอชนิดต่างๆ
4. ป่าสนเขา (Pine Forest) เป็นสภาพป่าที่สามารถพบได้ตั้งแต่ระดับความสูง 800–1,700 เมตร บริเวณแนวเขตชายแดนไทย – เมียนม่าร์ ตามแนวสันเขาถนนเส้นทางความมั่นคง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความลาดชันสูง พื้นที่ค่อนข้างเปิดโล่ง พรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่ คือ สนสามใบ สนสองใบ และมักพบไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ขึ้นปะปน อยู่ด้วย
5. ป่าดิบเขา (Hill evergreen forest) สภาพป่าส่วนใหญ่ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกตลอดทั้งปี จัดเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดลำห้วยหลายสาย ป่าประเภทนี้พบในระดับความสูงตั้งแต่ 1,500 เมตร จนถึงบริเวณยอดดอยผ้าห่มปก พรรณไม้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ก่อชนิดต่างๆ กำลังเสือโคร่ง นางพญาเสือโคร่ง อบเชย ทะโล้ เป็นต้น ตามผิวลำต้นของไม้จะถูกปกคลุมไปด้วย มอส เฟิน ไลเคน กล้วยไม้ และพืชเกาะอาศัยชนิดอื่นๆ นอกจากนั้นยังพบพืชชั้นล่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ดอกสีสันสวยงามตามฤดูกาล ได้แก่ บัวทอง หนาดขาว หนาดคำ ผักไผ่ดอย เทียนคำ เทียนดอย และผักเบี้ยดิน เป็นต้น

สัตว์ป่า
จากการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับทรัพยากรสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก สามารถจำแนกสัตว์ป่าที่พบ เป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) ได้แก่ หมาไม้ หมีควาย เก้ง หมูป่า เม่นใหญ่ กระต่ายป่า ลิงกัง ค่างแว่นถิ่นเหนือ กระรอกท้องแดง กระรอกดินแก้มแดง กระรอกบินจิ๋วท้องขาว เพียงพอนเส้นหลังขาว และสัตว์ที่มีรายงานการพบใหม่ในประเทศไทยครั้งแรกบริเวณพื้นที่ดอยผ้าห่มปก คือ เพียงพอนท้องเหลือง (Yellow-bellied Weasel) ในส่วนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น ยังไม่มีการสำรวจข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งถ้ามีการสำรวจเก็บข้อมูล หรืองานวิจัยในด้านนี้อย่างจริงจัง ก็จะพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสัตว์ในกลุ่มค้างคาว และสัตว์ฟันแทะชนิดต่างๆ
2. นก (Birds) จากการสำรวจพบนกชนิดต่างๆ กว่า 340 ชนิด ซึ่งสามารถพบทั้งนกประจำถิ่นหายาก เช่น นกติ๊ดหัวแดง นกขัติยา นกกระรางอกลาย และนกหัวขวานอกแดง ซึ่งหลายชนิดเป็นนกที่สามารถพบได้เฉพาะในพื้นที่ดอยผ้าห่มปกเท่านั้น ส่วนนกอพยพที่เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว เช่น นกเดินดงสีน้ำตาลแดง นกเดินดงอกเทา นกเดินดงสีคล้ำ และนกเดินดงลายเสือ เป็นต้น นอกจากชนิดนกหายากดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่พบบริเวณดอยผ้าห่มปกแล้ว บริเวณพื้นที่อื่นของอุทยานฯก็สามารถพบเป็นนกหายากได้หลายชนิด เช่น บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีการสำรวจพบนกหายาก เช่น นกกระติ๊ดใหญ่ปีกลาย นกเขนหัวขาวท้ายแดง นกกางเขนน้ำหัวขาว และนกมุดน้ำ ซึ่งเป็นนกหายากที่พบอาศัยตามลำธารที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบสถานะที่แน่นอนของนกชนิดนี้
3. ผีเสื้อ และแมลง (Butterflies and Insects) ในพื้นที่สามารถพบผีเสื้อกลางวันชนิดต่างๆ ได้มากกว่า 130 ชนิด โดยเฉพาะผีเสื้อหายาก เช่น ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ ผีเสื้อถุงทองป่าสูง ผีเสื้อถุงทองธรรมดา ซึ่งจัดเป็นแมลงคุ้มครอง และแมลงหายากชนิดต่างๆ เช่น ด้วงคีมยีราฟ กว่างซาง ด้วงคางคกผา เป็นต้น
4. สัตว์เลื้อยคลาน (Reptiles) ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น กิ้งก่าแก้ว เต่าปูลู เต่าหก งูลายสาบคอแดง งูทางมะพร้าวแดง งูสามเหลี่ยม ตะกวด เป็นต้น
5. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibians) ที่สามารถพบเห็นได้ เช่น กบดอยผ้าห่มปก อึ่งอ่างบ้าน กบหนอง อึ่งแม่หนาว อึ่งกรายห้วยเล็ก ปาดตีนเหลืองเหนือ และกระท่าง เป็นต้น สัตว์ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากอาจพบข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ และการกระจายพันธุ์ เนื่องจากยังขาดการสำรวจข้อมูลที่ครอบคลุมทุกพื้นที่

ชมทะเลหมอกบนดอยผ้า(ฟ้า)ห่มปก

การเดินทาง
รถยนต์ จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่ - ฝาง) ถึงอำเภอฝางแล้วไปตามถนนฝาง - ม่อนปิ่น ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. 4054 อีก ประมาณ 8 กิโลเมตร จะถึงบริเวณบ่อน้ำร้อนฝาง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก รวมระยะทางจากเชียงใหม่ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกประมาณ 160 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที
รถโดยสารประจำทาง มีรถประจำทางปรับอากาศของบริษัทขนส่งจำกัด และบริษัทรถร่วมเอกชน ระหว่างกรุงเทพ-ฝาง , เชียงใหม่-ฝาง เมื่อถึงอำเภอฝาง จะมีรถรับจ้างคอยบริการรับส่งสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร
สำหรับเส้นทางไปดอยฟ้าห่มปกนั้น ควรเดินทางด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ตามถนนสายฝาง – บ้านห้วยบอน เมื่อถึงบ้านห้วยบอนแล้ว ตรงไปตามถนนลูกรังอีกประมาณ 18 กิโลเมตร จะถึงที่ตั้งลานกางเตีนท์กิ่วลม ซึ่งห่างจากยอดดอยผ้าห่มปกโดยทางเดินเท้า ประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาเดินทางไป-กลับ ประมาณ 3 ชั่วโมง

อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก
ตู้ ปณ.39 อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ 50110
โทรศัพท์ : 0 5345 3517-8 โทรสาร : 05 3317 496

ขนาดพื้นที่ 327500.00 ไร่
หน่วยงานในพื้นที่
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก
หน่วยพิทักษ์ฯที่ดป.1(ดอยลาง)
หน่วยพิทักษ์นที่ดป.2(หนองเต่า)
หน่วยพิทักษ์ฯที่ดป.3(น้ำตกโป่งน้ำดัง)
หน่วยพิทักษ์ฯที่ดป.4(โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่)

ภาพและข้อมูลจาก สำนักอุทยานแห่งชาติ
ดอยฟ้าห่มปก ผ้าห่มปก(Doi Phahom Pok)จ.เชียงใหม่ | สูงเสียดฟ้า เที่ยวหน้าหนาว

1 ความคิดเห็น:

Good Guitars กล่าวว่า...

น่าไปเที่ยวนะ